หุ้น “แบงก์-ประกัน” ดาวเด่น หลังเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ย

0 Comments

ตลาดสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกดิ่งหนักทันที หลังธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ครั้งล่าสุด เมื่อ 15-16 มี.ค. ที่ผ่านมา ปรากฏว่าท่าทีของเฟดรอบนี้แข็งกร้าว (Hawkish) มากขึ้น เมื่อเทียบกับมติที่ออกมาก่อนหน้านี้

ซึ่งคณะกรรมการตัดสินใจปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนธ.ค. 2561 ในอัตรา 0.25% สู่ระดับ 0.25-0.50% เพื่อรับมือกับภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูงสุดในรอบ 40 ปี ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่เฟดคาดการณ์ว่าจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 6 ครั้ง หรือ ทุกครั้งในการประชุมที่เหลือของปีนี้ ในอัตรา 0.25% และ ปี 2566 จะขึ้นดอกเบี้ยอีก 3 ครั้ง

แต่ล่าสุดเมื่อดูจากรายงานการประชุมที่ออกมา เฟดกลับมีท่าทีที่คุมเข้มมากขึ้น โดยคณะกรรมการหลายคนสนับสนุนให้ปรับขึ้นดอกเบี้ยถึง 0.50% จำนวน 1 หรือ 2 ครั้ง ในการประชุมปีนี้ เพื่อรับมือกับแรงกดดันของเงินเฟ้อ

ขณะเดียวกันต้องการให้ปรับลดขนาดงบดุล (Quantitative Tightening หรือ QT) ลงเดือนละ 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์ แบ่งเป็นตั๋วเงินคลัง 6 หมื่นล้านดอลลาร์ และตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน (MBS) อีก 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยให้เริ่มตั้งแต่การประชุมรอบถัดไปในวันที่ 3-4 พ.ค. นี้

เวลานี้ถือว่า “ดอกเบี้ยโลกเข้าสู่ขาขึ้น” อย่างเต็มรูปแบบ นำโดยพี่ใหญ่สหรัฐที่ส่งสัญญาณคุมเข้มนโยบายการเงินอย่างเต็มสูบ ซึ่งดูแล้วในฝั่งสหรัฐไม่น่าห่วง เพราะการขึ้นดอกเบี้ยเกิดขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว

ขณะที่บ้านเราเศรษฐกิจไทยยังชอกช้ำจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 แถมยังเกิดวิกฤตซ้อนวิกฤตจากสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนขึ้นมาอีก จึงเป็นสาเหตุสำคัญให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องคงอัตราดอกเบี้ยที่ 0.50% เพื่อช่วยประคับประคองเศรษฐกิจต่อไป

สอดคล้องกับคาดการณ์ของกูรูหลายสำนักก่อนหน้านี้ที่มองว่าอัตราดอกเบี้ยต่ำยังจำเป็นและธปท. น่าจะคงดอกเบี้ยตลอดทั้งปี แต่มาถึงเวลานี้ต้องยอมรับว่าอะไรก็เกิดขึ้นได้ หลังเงินเฟ้อพุ่งไม่หยุด แม้จะมาจากฝั่งซัพพลายช็อคก็ตาม โดย ธปท. มองว่าเงินเฟ้อมีโอกาสทะลุ 5% ในช่วงไตรมาส 2 นี้ พร้อมปรับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อปีนี้เป็น 4.9%

ขณะเดียวกันเมื่อดอกเบี้ยโลกเป็นขาขึ้น ยิ่งทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของไทยกับประเทศอื่นๆ ห่างออกไปเรื่อยๆ ส่งผลให้ฟันด์โฟลว์ไหลออก กลายเป็นแรงกดดันทางอ้อมให้ ธปท. ต้องตัดสินใจปรับขึ้นดอกเบี้ย จึงไม่แปลกที่ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านเริ่มปรับมุมมองใหม่ โดยคาดว่า ธปท. จะเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยปลายปีนี้

ทำให้ “ธีมดอกเบี้ยขาขึ้น” เป็นอีกกลยุทธ์ที่น่าสนใจ ซึ่งกลุ่มที่ได้ประโยชน์โดยตรงเห็นจะเป็น “ธนาคารพาณิชย์” ยิ่งแบงก์ไหนมีโครงสร้างสินเชื่อแบบลอยตัวเยอะยิ่งได้เปรียบ เพราะสามารถปรับขึ้นดอกเบี้ยไปตามอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

และ “ประกันชีวิต” ซึ่งมีเงินในมือจำนวนมากจากเบี้ยประกันของลูกค้า สามารถนำเงินเหล่านี้ไปลงทุนซึ่งคาดหวังจะได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้นตามอัตราดอกเบี้ย

หุ้น “แบงก์-ประกัน” ดาวเด่น หลังเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ย

โดยบล.เอเซีย พลัส ระบุว่า ท่าทีของเฟดในครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อตลาดสินทรัพย์เสี่ยง เนื่องจากเป็นการลดสภาพคล่องส่วนเกินที่เร็วและแรงกว่าที่ตลาดคาด นอกจากนี้ยังหนุนให้ Real Yield (ผลต่างระหว่าง Bond Yield กับคาดการณ์เงินเฟ้อ) มีโอกาสพลิกกลับมาเป็นบวกได้เร็วขึ้น กดดันให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ ทยอยปรับตัวลง

สะท้อนได้จากสถิติในอดีตเวลา Real Yield พลิกกลับมาเป็นบวก ราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีโอกาสปรับลงเสมอ ซึ่ง Real Yield ปัจจุบันเริ่มลดระยะติดลบน้อยลงเรื่อยๆ และการใช้นโยบายการเงินต่อเนื่องจะช่วยเพิ่ม Bond Yield พร้อมกับลดเงินเฟ้อ และอาจส่งผลให้ Real Yield ในระยะถัดไปพลิกลับมาเป็นบวกได้ ซึ่งในอดีตเวลา Real Yield เป็นบวกราคาสินค้าโภคภัณฑ์มักปรับตัวลงเสมอ

ถือเป็นประเด็นที่นักลงทุนกังวลมากในปีนี้ และเป็นความเสี่ยงสำคัญสำหรับตลาดหุ้น อย่างไรก็ตามยังพอมีหุ้นที่สามารถรับมือกับปัจจัยดังกล่าวได้ดี และน่าจะ Outperform ตลาดได้ โดยฝ่ายวิจัยแนะนำหุ้น 3 กลุ่ม ดังนี้

1.หุ้นได้แรงหนุนจากนโยบายการเงินตรึงตัว แนะนำ กลุ่มธนาคารและประกัน KBANK, SCB, BBL, BLA

2.หุ้นได้ประโยชน์จากต้นทุนอิงกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีโอกาสปรับตัวลดลง แนะนำ GPSC, BGRIM, BJC, SAPPE

3.หุ้นปัจจัย 4 ซึ่งมีความผันผวนต่ำกว่าตลาด แนะนำ M, CPALL, HMPRO, CRC, BH, BDMS

อ้างอิง
https://www.bangkokbiznews.com/business